การประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563

การประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563
'''การประท้วงต่อต้านร่างรัฐบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563''' เป็นการเดินขบวนประท้วงในฮ่องกงและนครอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการถอดถอน "ร่างรัฐบัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019" (Fugitive Offenders and Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Legislation (Amendment) Bill 2019) ที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอ เพราะเกรงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ฮ่องกงตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่ และจะทำให้ชาวฮ่องกงตกอยู่ใต้ระบบกฎหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากของตน

ประชาคมทางกฎหมายและประชาชนทั่วไปเริ่มประท้วงหลายรูปแบบในฮ่องกง ซึ่งรวมถึงการประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ของแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง (Civil Human Rights Front) ที่มีผู้มาสมทบถึง 1.03 ล้านคนตามการประเมินของแนวร่วมเอง และได้รับการนำเสนออย่างมากในสื่อมวลชน ต่อมา ชาวฮ่องกงโพ้นทะเลและผู้คนในท้องถิ่นอื่นก็พากันประท้วงในพื้นที่ของตน

แม้มีการเดินขบวนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลฮ่องกงยืนยันจะผ่านร่างกฎหมายนี้ให้ได้ โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วน จะได้อุด "ช่องว่าง" ในกฎหมาย เดิมกำหนดจะพิจารณาวาระที่สองในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 แต่เลื่อนออกไปก่อนเพราะการประท้วง การประชุมที่กำหนดจะจัดในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ก็เลื่อนเช่นกัน

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงแถลงว่า ได้ให้เลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างไม่มีกำหนด แต่เน้นย้ำว่า เป็นเพียงเลื่อน ไม่ใช่ถอน ทำให้มีผู้ฆ่าตัวตายประท้วงที่ลานไท่กู่ (Pacific Place) ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ครั้นวันรุ่งขึ้น มีการเดินขบวนใหญ่อีกครั้งเพื่อกดดันให้ถอนร่างกฎหมายและให้ผู้บริหารฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง

การประท้วงดำเนินตลอดมาทั้งฤดูร้อน และมักทวีเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจ, ผู้ปฏิบัติการเชิงรุก, กลุ่มอั้งยี่ (triad) ที่หนุนจีนแผ่นดินใหญ่, และชาวบ้านในกว่า 20 ท้องที่ทั่วทั้งภูมิภาค เมื่อการชุมนุมคืบหน้าไปนั้น นอกจากผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเรื่องที่ตำรวจใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่จับตัวไป และเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกถือว่าการประท้วงเป็นการก่อจลาจล เป็นต้นแล้ว ผู้ชุมนุมยังเรียกร้องเพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้บริหารและคณะผู้บริหารได้โดยตรง ซึ่งเคยเป็นชนวนการประท้วงเมื่อ พ.ศ. 2557

หลั่มชะลอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในวันที่ 15 มิถุนายน แต่ยังไม่ยอมให้สัญญาว่าจะถอนร่างฯ จนวันที่ 4 กันยายน อย่างไรก็ดี เธอยังปฏิเสธยอมรับข้อเรียกร้องอีกสี่ข้อที่เหลือ กล่าวคือ ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนความรุนแรงของตำรวจ การปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม การเลิกระบุการประท้วงของทางการว่าเป็น "การจลาจล" และให้เธอลาออกจากตำแหน่งและให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปสำหรับสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด

วันที่ 1 ตุลาคม มีการเดินขบวนขนานใหญ่ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้ประท้วงนักศึกษาอายุ 18 ปีถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนจริง ผู้บริหารสูงสุดในสภาใช้ข้อบังคับระเบียบฉุกเฉินในวันที่ 4 ตุลาคมเพื่อใช้กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก

ใน พ.ศ. 2530 กลุ่มพิเศษว่าด้วยกฎหมาย ในคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง (Special Group on Law of the Hong Kong Basic Law Consultative Committee) เสนอให้ใช้หลักดินแดน (territorial principle) ระงับข้อพิพาททางเขตอำนาจของฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อที่ใครก็ตามที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะอาศัยในฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ จะต้องถูกดำเนินคดี ณ ที่เกิดเหตุ ต่อมาใน พ.ศ. 2541 หลี่ จู้หมิง (Martin Lee) นักกฎหมายสายประชาธิปไตยซึ่งอยู่ในกลุ่มพิเศษดังกล่าว แถลงในที่ประชุมสภานิติบัญญัติว่า รัฐบาลฮ่องกงควรตั้งมั่นในหลักดินแดน และต้องเริ่มจัดให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนโดยไม่ชักช้า

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 รัฐบาลฮ่องกงเสนอ "ร่างรัฐบัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019" เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม "รัฐกำหนดผู้หนีคดี" (Fugitive Offenders Ordinance: Cap. 503) ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดให้มีการมอบตัวเป็นกรณีพิเศษ (special surrender arrangements) และแก้ไขเพิ่มเติม "รัฐกำหนดความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา" (Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Ordinance: Cap. 525) เพื่อที่ฮ่องกงจะสามารถจัดให้มีความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายกับสถานที่ใด ๆ ภายนอกฮ่องกง การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ฮ่องกงสามารถขอให้ไต้หวันมอบตัวชายผู้ต้องสงสัยฆ่าคนในไต้หวัน แต่กลไกที่ร่างขึ้นมิใช่เพื่อกรณีไต้หวันเท่านั้น ยังสามารถใช้แก่จีนแผ่นดินใหญ่และมาเก๊าได้ด้วยซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายปัจจุบัน

ประเทศ
  • ฮ่องกง
    ฮ่องกง หรือ เซียงก่าง (Hong Kong; 香港) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Hong Kong Special Administrative Region of the People's Republic of China) เป็นเขตปกครองตนเองริมฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในทางภูมิศาสตร์ มีสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงและทะเลจีนใต้โอบรอบ ด้วยเนื้อที่ 1,104 ตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 7.5 ล้านคน ถือเป็นเขตปกครองที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ฮ่องกงยังเป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเองที่พัฒนามากที่สุดในโลก, เป็นเมืองที่มีจำนวนตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก และมีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

    ประวัติศาสตร์ของฮ่องกงเริ่มต้นจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (ฮ่องกงของบริเตน) หลังจากจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น เกาะฮ่องกง และดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูนตกเป็นอาณานิคมใน ค.ศ. 1842 และ 1860 ตามลำดับ อาณานิคมขยายไปถึงคาบสมุทรเกาลูนหลังสงครามฝิ่นครั้งที่สอง และขยายออกไปอีกเมื่อสหราชอาณาจักรทำสัญญาเช่าดินแดนเป็นเวลา 99 ปีใน ค.ศ. 1898 ฮ่องกงของบริเตนถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1941 ถึง 1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนจะกลับมามีสถานะเดิมอีกครั้งหลังการยอมจำนนของญี่ปุ่น ต่อมา สหราชอาณาจักรทำสัญญาส่งมอบดินแดนทั้งหมดคืนให้แก่ประเทศจีนใน ค.ศ. 1997 และมีสถานะเป็นหนึ่งในสองเขตบริหารพิเศษของจีน (อีกแห่งคือมาเก๊า) แต่จีนได้รับรองให้ฮ่องกงสามารถรักษาระบอบการปกครองและเศรษฐกิจที่แยกจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยอยู่ภายใต้หลักการของ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" มานับแต่นั้น