ดอลลาร์ฮ่องกง

ดอลลาร์ฮ่องกง
$
ดอลลาร์ฮ่องกง (สัญลักษณ์: HK$; รหัส: HKD) เป็นเงินตราอย่างเป็นทางการของฮ่องกง แบ่งได้เป็น 100 เซนต์ องค์การเงินแห่งฮ่องกงเป็นคณะกรรมการเงินตราของรัฐและเป็นธนาคารกลางโดยพฤตินัยของฮ่องกงและดอลลาร์ฮ่องกง

ธนาคารพาณิชย์สามแห่งได้รับใบอนุญาตจากองค์การเงินแห่งฮ่องกงในการออกธนบัตรสำหรับหมุนเวียนในฮ่องกง ทั้งนี้ ธนาคารทั้งสามแห่ง ได้แก่ เอชเอสบีซี ธนาคารแห่งประเทศจีน และสแตนดาร์ดชาร์เตอด์มีธนบัตรที่มีการออกแบบเฉพาะตัวสำหรับ 20, 50, 100, 500, และ 1000 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยทุกรูปแบบมีความคล้ายกับธนบัตรมูลค่าเท่ากัน สำหรับธนบัตร 10 ดอลลาร์ฮ่องกงและเหรียญกษาปณ์นั้น รัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ออกแต่ผู้เดียว ซึ่งในอัตราแรกเปลี่ยนอยู่ที่ 1ดอลลาร์สหรัฐ=7.78ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 1ดอลลลาร์ฮ่องกง=4.28บาท (ณ วันที่30 ต.ค. 2564)

ในเดือนเมษายน 2562 ดอลลาร์ฮ่องกงเป็นเงินตราที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 นอกจากมีใช้ในฮ่องกงแล้ว ยังใช้ในมาเก๊าด้วย

ประเทศ
  • ฮ่องกง
    ฮ่องกง หรือ เซียงก่าง (Hong Kong; 香港) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Hong Kong Special Administrative Region of the People's Republic of China) เป็นเขตปกครองตนเองริมฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในทางภูมิศาสตร์ มีสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงและทะเลจีนใต้โอบรอบ ด้วยเนื้อที่ 1,104 ตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 7.5 ล้านคน ถือเป็นเขตปกครองที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ฮ่องกงยังเป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเองที่พัฒนามากที่สุดในโลก, เป็นเมืองที่มีจำนวนตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก และมีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

    ประวัติศาสตร์ของฮ่องกงเริ่มต้นจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (ฮ่องกงของบริเตน) หลังจากจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น เกาะฮ่องกง และดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูนตกเป็นอาณานิคมใน ค.ศ. 1842 และ 1860 ตามลำดับ อาณานิคมขยายไปถึงคาบสมุทรเกาลูนหลังสงครามฝิ่นครั้งที่สอง และขยายออกไปอีกเมื่อสหราชอาณาจักรทำสัญญาเช่าดินแดนเป็นเวลา 99 ปีใน ค.ศ. 1898 ฮ่องกงของบริเตนถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1941 ถึง 1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนจะกลับมามีสถานะเดิมอีกครั้งหลังการยอมจำนนของญี่ปุ่น ต่อมา สหราชอาณาจักรทำสัญญาส่งมอบดินแดนทั้งหมดคืนให้แก่ประเทศจีนใน ค.ศ. 1997 และมีสถานะเป็นหนึ่งในสองเขตบริหารพิเศษของจีน (อีกแห่งคือมาเก๊า) แต่จีนได้รับรองให้ฮ่องกงสามารถรักษาระบอบการปกครองและเศรษฐกิจที่แยกจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยอยู่ภายใต้หลักการของ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" มานับแต่นั้น